หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

โยนหินลงน้ำอย่างไร ไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม


    
     เสียงอื้ออึง ระงมความไม่พอใจ ที่ห้องประชุมขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
" ร้อยคนสั่ง สิบคนทำ "
" อยากได้แต่ผลงาน แต่เงินสนับสนุนไม่ตามมา "
" พอเปลี่ยนผู้นำทีไร นโยบายเปลี่ยนอีกแล้ว "
" ไม่มีเวลาทำงานแล้ว มีแต่เตรียมประกวดประเมิน "
ประโยคเหล่านี้ เป็นเสียงสะท้อนของผู้เข้าร่วมประชุม

     ทุกครั้งทีมีการถ่ายทอดนโยบาย ตั้งแต่ระดับประเทศลงมา จนถึงระดับผู้ปฏิบัติในพื้นที่ มักมีแรงกระเพื่อมความไม่พอใจ เหนื่อยหน่าย
ตามมาเสมอ
    แรงกระเพื่อมนี้ เกิดจากสิ่งใด อาจเป็นเพราะ ผู้อยู่เบื้องบน กับผู้อยู่เบื้องล่างยังหากันไม่เจอ ข้อความที่สื่อสารหลายทอดกว่าจะถึงปลายทาง สารมีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งบริบทในพื้นที่ และข้อจำกัดต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยต่อแรงกระเพื่อมเช่นกัน
     ยิ่งก้อนหินใหญ่มากเท่าไหร่ เวลาตกน้ำ ยิ่งเกิดแรงกระเพื่อม เกิดคลื่นใหญ่  ไหลเข้าฝั่ง ถล่มตลิ่งพัง คนที่ขว้างหินก้อนนั้นอาจลื่นล้มได้ เพราะตลิ่งทรุด 
     เรามีวิธีใดทำให้น้ำไม่กระเพื่อมได้บ้าง หรือลดแรงกระเพื่อมให้น้อยที่สุด
๑. ทำให้น้ำระเหิดแห้ง หมายถึง ถ้าไม่มีผู้ปฏิบัติเลย ไม่มีแรงต่อต้าน แต่ผลเสียน่าจะมากกว่าผลดี เพราะขาดผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่
๒. ทำให้น้ำเป็นน้ำแข็ง หมายถึง ผู้ปฏิบัติเหมือนหุ่นยนต์ ทำตามคำสั่งอย่างเดียว ไม่มีเสียงทักท้วง
๓. ไม่ต้องโยนก้อนหิน หมายถึง ไม่ต้องมีนโยบาย ไม่ต้องมีตัวชี้วัด อยู่อย่างไรก็ให้เป็นอยู่อย่างนั้น
๔. ฝนทั่งก้อนหินให้เรียวเล็กเท่าเข็ม แล้วปล่อยลงในแนวดิ่ง หมายถึง เบื้องบนปรับนโยบาย ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตามข้อจำกัด และปฏิบัติได้จริง
๕. ค่อยๆหย่อนก้อนหินให้ชิดผิวน้ำมากที่สุด เมื่อน้ำจมก้อนหินเกือบมิด จึงปล่อยมือ หมายถึง เกิดจากการฝังตัวของผู้บริหารในพื้นที่ เกิดความคลุกคลีกับผู้ปฏิบัติ แล้วปรับนโยบายที่เหมาะสม ตรงจุด ค่อยๆประกาศใช้ ปรับเปลี่ยนตามความจำเป็นในแต่ละพื้นที่

     ขอให้มีความสุข เป็นตัวขับเคลื่อนในการทำงาน


     
     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น